เทคโนโลยี เกม และโอกาส (Through the loop translation)

ผมได้บังเอิญรู้จักกับบล็อค Through the loop ผ่านเกม Vessel จาก Humble Bundle 6 (จริงๆ เกมนี้รู้จักนานแล้ว แต่ผมไม่กล้าซื้อและเพิ่งได้เล่นตอนมันลง Humble) โดยเจ้าของบล็อคให้คำนิยามไว้ดังนี้ครับ

Through the Loop เป็นบล็อคที่สำรวจคำถามที่ว่า “ในเกม เราจะทำอะไรได้บ้างกับเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้” แต่ละบทความจะกล่าวถึงโลกใหม่ และประสบการณ์ที่เริ่มเป็นไปได้ด้วยพลังประมวลผล และการเชื่อมต่อในปัจจุบัน, สำรวจสิ่งที่สร้างขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ในปัจจุบัน, ตามทางที่พวกเขานำไป และมองไปถึงไอเดียใหม่ๆ ที่เริ่มโผล่ออกมาจากเส้นขอบฟ้า บล็อคนี้เขียนโดยผม John Krajewski โปรแกรมเมอร์ และนักออกแบบเกมที่ Strange Loop Games ซึ่งเรามีเป้าหมายหลักคือเป็นสตูดิโอพัฒนาเกมที่ผลักดันขีดจำกัดของการเล่นเกมโดยใช้เทคโนโลยี ในทีแรกอาจจะมองว่าการเขียนบล็อคที่พูดถึงไอเดียที่เราจะพัฒนาขึ้นนี้มันเหมือนการชี้โพรงให้กระรอก แต่ผมก็เชื่อว่าตัวไอเดียเองมีค่าน้อย และการแชร์ไอเดียช่วยทวีคูณมูลค่าของมัน ทำให้คุณได้ข้อคิด และการสนับสนุนจากคนหมู่มาก ผมหวังว่าคุณจะร่วมการเสาวนานี้ด้วย

ผมเป็นคนนึงที่เชื่อมั่นในการที่พลังประมวลผลจะเปลี่ยนการเล่นเกมไป ในขณะที่ Nintendo กำลังปล่อยคอนโซลพลังงานต่ำออกมาแล้วเอาเกมเพลย์ชูโรง ผมโจมตีประเด็นนี้เข้าไป หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับผมเข้าใจว่าการที่เครื่อง​ “แรง” มีไว้เพียงเพื่อภาพสมจริง ในขณะที่ที่จริงแล้วการที่เครื่องแรงนั้นทำให้เราสามารถทำเกมแปลกๆ ได้อีกเยอะ อย่างเช่น World of Goo ที่จุดประเด็นเกมฟิสิกส์ไปพร้อมๆ กับ Crayon Physics, เกม Portal หรือไปจนถึงเกม​ Battlefield 3 ที่อาคารปลูกสร้างสามารถพังทลายได้ ไม่ได้เป็นพระอิฐพระปูนเหมือนเกมสมัยก่อน

ต่อจากนี้ไปจะเป็นการแปลบทความ “เทคโนโลยี เกม และโอกาส” ครับ


เราอยู่ในโลกที่ทุกวันนี้คนจำนวนมากเดินไปไหนมาไหนก็ต่างพกสิ่งที่คนสมัยก่อนเรียกซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ไว้ในกระเป๋า เครื่องอันทรงพลังเหล่านี้ต่างเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูงกับอุปกรณ์อื่นๆ ทั่วโลก แน่ล่ะว่าเราอยู่ในโลกแห่งอนาคต แล้วเราทำอะไรกับเทคโนโลยีรอบตัวเราเหล่านี้? บล็อคนี้จะแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ทั้งหมด


ทางด้านวิดีโอเกม เราเริ่มรุกเข้าหาความสมจริงมาหลายยุคหลายสมัย พอเทคโนโลยีก้าวไปครั้งใด การพัฒนาด้านกราฟฟิคก็ก้าวไปอย่างเห็นได้ชัด ปฎิเสธไม่ได้ว่าฉากทิวทัศน์ที่ศิลปินและนักพัฒนาสร้างด้วยพลังนี้นั้นสวยงาม และการก้าวหน้าอย่างนี้ก็ควรจะ (และยังจะ) ดำเนินต่อไป แน่ล่ะว่าการปรับปรุงตามเทคโนโลยีมันง่ายตามเทรนที่การเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัด (โพลีกอนมากขึ้น, เชดเดอร์ละเอียดขึ้น) แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ก่อนหน้านี้เป็นไปไม่ได้กลับกลายมาเป็นจริงล่ะ? การเล่นเกม สมองกลเทียม (AI) ฟิสิกส์​การเชื่อมต่อ อะไรอีกล่ะที่เป็นไปได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเรา

คำถามนี้เป็นคำถามที่เป็นเงินเป็นทองมาก ในตลาดปัจจุบันที่มีแต่เกมลอกกันไปลอกกันมา และเกมในแนว ‘ปลอดภัย’ (ผู้แปล: คือเกมที่ไม่มีความเสี่ยงจะขาดทุนสักเท่าไร) แต่ก็ยังมีที่อีกมากสำหรับเกมที่ทำอะไรแปลกใหม่ เกมที่ก้าวข้ามขีดจำกัด ส่วนผู้บริโภคก็พร้อม และยอมรับมันอย่างรวดเร็วด้วย เรียกได้ว่าเป็นตลาดที่สุกงอมพร้อมรับการพัฒนาเหล่านี้


ขณะที่นักพัฒนาเกมดิ้นรนสร้างเกมชื่อดังของพวกเค้าซ้ำอีกรอบ เบื้องหน้าพวกเขาก็มีมหาสมุทรแห่งความคิดที่ยังไม่มีใครทำอยู่ ตัวอย่างเช่น ‘Draw Something’ เกมที่อายุเพียงแค่ 6 เดือนแต่โกยไปแล้ว 37 ล้านดาวน์โหลด และถูกซื้อไปโดย Zynga ในมูลค่า $180 ล้าน มันเป็นไปได้ยังไง แล้วทำไมต้องเป็นตอนนี้? เทคโนโลยีการสร้างเกมแบบนี้มันมีมานมนานแล้ว แล้วการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายสังคมก็มีมานานแล้วเหมือนกัน แล้วทำไมกว่าเกมจะออกมาได้ถึงนาน? เกมวาดรูปให้เพื่อนทาย คิดๆ แล้วอาจจะเหมือนไอเดียที่ใครๆ ในโลกก็คิดได้ และเป็นการใช้เทคโนโลยีเต็มประสิทธิภาพ แต่ตั้งนานกว่าจะมีคนคิดได้ ผมเชื่อว่าเกมเหล่านี้แหละเป็นตัวเริ่มสกัดแนวความคิดใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีเปิดให้เรา และผู้บริโภคพร้อมจะยอมรับ


ลองมามองถึงช่วงระหว่างที่เกมแนวใหม่ถูกสร้างขึ้น กับช่วงที่ไอเดียนั้นสามารถทำได้ในปัจจุบัน เราจะพบเสมอว่าเกมจะตามรั้งท้ายเทคโนโลยีที่เกมใช้ประมาณ 5 ปีหรือมากกว่า เทคโนโลยีที่ใช้สร้างเกมข้ามพื้นที่อย่าง Portal หรือปริศนาบิดเบือนเวลาของ Braid มันเกิดขึ้นเมื่อไร? มีตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสนใจมันอยู่นาน ข้อสังเกตหนึ่งคือทั้งสองกรณีตัวอย่างนี้เกิดจากคนนอกวงการเกมทั้งนั้น โดย Braid ถูกสร้างโดยนักพัฒนาอิสระ ส่วนไอเดียต้นฉบับของ Portal มาจากนักเรียน

ที่บริษัทนับร้อย พนักงานนับพันในอุตสาหกรรมเกมไม่สามารถหรือไม่อยากทำเกมที่ฉีกแนวแบบนี้แม้จะมีเทคโนโลยีให้ใช้มาแล้วเป็นปีๆ ทำให้เราสังเกตได้ว่านี่คือจุดสำคัญที่หายไปจากอุตสาหกรรมเกม แต่ทว่าก็ไม่ควรมองว่าเป็นข้อผิดพลาด ควรจะมองว่าเป็นโอกาศอันยิ่งใหญ่จะดีกว่า เทคโนโลยีก็พร้อม คนเล่นก็พร้อม เหลือแค่ใครจะยอมรับความเสี่ยงและสร้างเกมเหล่านี้ และด้วยสถานการณ์ในวงการแบบนี้ ผมสามารถคิดว่าอะไรเสี่ยง อะไรปลอดภัย สลับกันได้ด้วยซ้ำ

ฉะนั้น ในวงการเกม อะไรล่ะที่ทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่ปัจจุบันยังไม่มีคนทำ? คำถามนี้มีคำตอบอันยิ่งใหญ่ที่สามารถแปลงโฉมวงการเกม ผลักดันเกมให้เป็นศิลปะ และเป็นรากฐานของธุรกิจ


ของแถมท้ายสำหรับคนอ่านจบ: ผมเคยเกือบจะเขียนเกมๆ นึงส่งใน NSC เป็นเกมที่ผมโม้ไว้ว่า “เกมมือถือ” “ไม่มีกราฟฟิค” “ไม่มีเนื้อเรื่อง” “ไม่มีบทพูด” “ไม่มีซาวน์”

อ้าว แล้วเล่นยังไง?

ก็เพราะกราฟฟิคของผมมันคือโลก เนื้อเรื่องของผมมันมาจากการที่ผู้เล่นแต่งขึ้นมาเอง บทพูดของผมมาจากการโต้ตอบของคนในโลกจริง และซาวน์ของผมมาจากธรรมชาติ

“project alt.reality”

พบกันใหม่ตอนหน้าครับ แล้วจะได้เข้าใจว่าเกมของผมทำไมต้องเป็นเกมมือถือ และทำไมมันคือเกมที่อดีตไม่มีคนทำ ปัจจุบันเทคโนโลยีเราจึงก้าวมาถึง