NSC รอบนักเรียน #2

จากปีที่แล้ว มาพูดถึงโครงงานปีนี้บ้าง

Inequality

ปีที่แล้วเรื่องที่สังเกตคือว่า โรงเรียนต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงปัญหามากกว่าโรงเรียนในกรุงเทพ ปรากฏว่าไม่รู้ว่าปีนี้โรงเรียนในกรุงเทพอ่านบล็อกเก่ามาหรืออย่างไร แต่เค้าแก้ปัญหาได้น่าสนใจมาก

ผู้เข้าแข่งขันที่ส่งมาหลายรอบน่าจะทราบว่า Social Impact เป็นคะแนนก้อนใหญ่มาก (ซึ่งแจ้งในเกณฑ์การตัดสินอยู่แล้ว) สิ่งที่โรงเรียนในกรุงเทพทำในปีนี้แทบทุกกลุ่มคือไปหากลุ่มเป้าหมายจริง หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น (Domain expert) แล้วถ่ายคลิปมาด้วย กรรมการจะได้ไม่ต้องถามว่าอันนี้เคยเอาไปใช้งานจริงแล้วหรือยัง

ในขณะที่โรงเรียนต่างจังหวัดมีอยู่แค่ 3 – 4 โครงการที่ได้คุยกับ Domain expert บางกลุ่มสอบถามไปก็พบว่าขาดแคลน Domain expert ในพื้นที่ด้วยซ้ำ

Video

ปีนี้ตัดสินกันด้วยการให้ present เป็นวิดีโอมา ซึ่งคิดว่ามีผลต่อคะแนนเยอะมากๆ เพราะกรรมการจะไม่ได้จับชิ้นงานจริงแล้ว ให้คะแนนได้แค่ตามที่โชว์ในวิดีโอ แล้ววิดีโอมีเวลาจำกัด เท่าที่เห็นพลาดกันคือ

  1. หลายกลุ่มนั่งอ่านที่มาและความสำคัญให้ฟัง ซึ่งยาว เสียเวลา และไม่ได้ใช้วิดีโอเป็นประโยชน์ (ควรจะเขียน script ใหม่ให้เหมาะสมกับสื่อที่ใช้นำเสนอ)
  2. Demo ให้คะแนนยาก เช่นมีคะแนน Look and feel แต่ไม่ได้ถ่าย interface มาให้ดูเลยก็ต้องขอดูตอนซักถาม
  3. ถ้าตัดต่อดีเกินไปจะรู้สึกว่าเป็น visual effect ให้คะแนนไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าชิ้นงานที่ใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อกรรมการทดลองเองไม่ได้ ชิ้นงานอาจจะ simulate scenario ทั้งหมดที่แสดงในคลิปให้เหมือนใช้งานได้ไม่ติดปัญหา (นี่คือรายการแข่งซอฟต์แวร์ เราตัดสินจากชิ้นงานที่เสร็จไม่ใช่ไอเดีย) ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะต้องใช้ซักถามสืบให้พอทราบว่าชิ้นงานจริงใช้งานได้แค่ไหน
  4. เนื่องจากทำ video แล้วไม่จำเป็นต้องถ่ายคลิปตัวเองยืนพูดหน้า slide บางคนทำแบบนี้มาแล้วข้อความไม่ชัด หรือเสียงไม่ชัด

สรุปแล้วคิดว่ากลางๆ สุดคือเอา slide ขึ้นเต็มจอ พากย์เสียงทับแล้วตัด demo เข้ามาแทรก (ด้วย screen record จริง ไม่ใช่เอากล้องจับ) น่าจะทำง่ายและดูง่ายที่สุด อาจจะน่าเบื่อแต่ไม่น่าจะเสียคะแนน

ปีหน้าคาดหวังว่าถ้ามีวิดีโออีก มันจะคุณภาพดีขึ้น เพราะปีนี้ฉุกละหุกมาก แต่ไม่มีเลยจะดีกว่า

Scope

ปีนี้กรรมการกังวลกันว่าผู้เข้าแข่งขันเห็นคะแนนแล้วจะสงสัยกันมั้ยว่าทำไมคนนี้ได้อันดับเท่านี้ ทั้งๆ ที่ Scope อาจจะเล็กกว่าของเค้า

ในความเห็นผมว่าเลือก Scope เล็กดีกว่า Scope ใหญ่ มันทำให้โฟกัสชิ้นงานได้มากขึ้น งานมันเลยจะรู้สึกว่าคุณภาพดี มากกว่างานที่ Scope ใหญ่แล้วเสร็จฟีเจอร์อย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ก็ต้อง balance กับ social impact ด้วยว่าถ้า scope งานเล็กแล้วประโยชน์น้อย อาจจะได้รางวัลแต่อาจจะไม่ถึงที่ 2

ตัวอย่างที่ค่อนข้างดีจากปีที่แล้วคือโครงงานที่ทำถังขยะเปิดปิดอัตโนมัติ กรรมการตรวจแล้วไม่มีข้อสงสัยเพราะ scope เล็ก ชิ้นงานใช้งานสมบูรณ์ และคิดมารอบแล้วกรรมการไม่มีข้อเสนอแนะอื่นอีก ตัวชิ้นงานเลยได้คะแนนค่อนข้างดี ในขณะเดียวกัน scope มันแคบและปัญหาไม่ได้ pain เท่าไร ก็เลยไม่ค่อยมีคะแนนให้เลื่อนอันดับไปอีก ในขณะที่โครงการทำ hardware อื่นๆ ในปีเดียวกันมี scope กว้างกว่าแต่ว่าชิ้นงานจริงไปได้ไม่ลึกเท่าไรนัก

IoT

ปีนี้รู้สึกว่า IoT ถอยหลังลงคลองอย่างชัดเจนมาก ด้วยการมาของ Blynk และ Kidbright

สมัยผมลงแข่งจำได้ว่ามีกลุ่มหนึ่งทำระบบปิดไฟโดยใช้ตู้ Consumer Unit ของ Scheider ที่เสียบ Ethernet ได้ แล้วทำหน้าเว็บเป็น PHP เพื่อควบคุม มันเลยค่อนข้างเป็นโครงงาน software เพราะ hardware ไม่ได้ทำเอง

แต่สมัยนี้โครงงานที่เน้น hardware มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยุค IoT แต่คิดว่าในมุมเทคนิคแล้วมันน่าจะเกิดจากที่การเขียน IoT ง่ายขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ interface สำเร็จรูปที่ทำให้คนทำเองลดลงมาก หลายๆ ทีมเลือกใช้ Blynk หรือ LINE Notify ซึ่งพวกนี้เราไม่นับเป็นคะแนน interface เลยเพราะใช้ของสำเร็จมาแล้ว

ปัญหาที่ตามมาคือ ในหลายๆ use case ที่เลือกมาใช้แล้วจำเป็นต้องพึ่งบริการ online แต่จุดที่ใช้งานไม่มี internet ต้องติดตั้ง internet มือถือเพิ่มเข้าไปอีก (และด้วยว่าโครงงานไม่ได้ถูกใช้งานจริง เลยไม่เห็นใครคิดแก้ปัญหามาก่อนที่กรรมการจะถาม)

จริงอยู่ว่าการใช้ interface สำเร็จจะลดเวลาทำสิ่งที่เคยมีคนทำไปแล้ว (don’t reinvent the wheel) แต่ยังไม่เห็นมีใครจะใช้เวลาที่ได้คืนมาเอาไปทำอย่างอื่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ โครงการเปิดปิดไฟที่ทำมาเป็นสิบปีแล้วก็ยังมีฟีเจอร์เท่าเดิมแค่เปลี่ยน use case ไปเรื่อยๆ แถมโค้ดน้อยลงเรื่อยๆ จนไม่ต้องเขียน server เองแล้ว

ที่น่ากลัวคือ IoT กำลังจะเข้าถึงมือ end user ด้วย Xiaomi และ Sonoff ที่ทำราคาถูกมาก ปีหน้าถ้ายังมีใครทำเปิดปิดพัดลมตามอุณหภูมิอยู่อีกจะถามแล้วว่าต่างกับการใช้ Sonoff กับ Xiaomi Temperature Sensor อย่างไร (แถมมันยังมี Plant Monitor ปักดินได้ด้วยนะ)

สิ่งที่คาดหวังในอนาคตคือโครงการใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่เอา sensor ที่ให้มาต่อออก internet มีแจ้งเตือนแล้วก็เปิดปิดไฟได้อัตโนมัติ เช่น…

  • ระบบสำหรับทำให้ end user กำหนด automation ได้เองเหมือน IFTTT
  • data source แบบใหม่ที่ไม่ใช่เซนเซอร์ในกล่อง (ผมเคยลองทำระบบตรวจจับคนในห้องประชุมจะใช้ที่บริษัท มันก็พอได้บ้างนะ แต่สำหรับรอบนักเรียนอาจจะต้อง reframe ปัญหาใหม่)
  • เงื่อนไขการทำงานที่กลับด้านกัน คือ action เกิดบน internet แล้วส่งผลต่อโลกจริง เช่น Printer ที่พิมพ์ Instagram อัตโนมัติ
  • ไอเดีย embedded อื่นๆ ที่ไม่ต้องออก internet เช่น Network monitor หรืองานที่ใช้ peer-to-peer ระหว่างอุปกรณ์ (ปีนี้ก็มีคนทำนะ)

แต่ถ้าเลี่ยงได้น่าจะมีหัวข้อที่ได้ที่ 1 อีกเยอะที่ง่ายกว่าด้านบนนี้