What went right?

เมื่อกลางปีไปพูดให้น้องม. ปลายที่โรงเรียนฟังเรื่องสายอาชีพ

เราก็สังเกตอย่างนึงว่า จริงๆ แล้วเวลามีคนอยากให้แนะนำว่าจะใช้ชีวิตในม. ปลาย/มหาลัยยังไง คำตอบของคนที่มาพูดหลายคนไม่ใช่ What went right แต่เป็น What I regret

ซึ่งมันก็อาจจะดี เพราะต้องมีประสบการณ์ถึงจะบอกได้ว่าในช่วงชีวิตที่ผ่านมามันเสียดายอะไร

แต่เรารู้สึกว่าคนฟังอาจจะไม่ได้ relate ด้วย เช่น เวลามีคนถาม เราจะบอกว่าตอนจบมาตกใจว่าความฝันตั้งแต่เด็กว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ มันไม่มีตำแหน่งงานชื่อโปรแกรมเมอร์นะ มันแยกเป็นอีกหลายสิบแบบ ต้องเลือกเอาสักแบบ

คนฟังก็อาจจะรู้สึกว่าเอาแค่ให้มีงานทำก่อนถึงจะเลือกได้ขนาดนั้น

มันอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนอายุเยอะๆ ชอบเล่าเรื่องเก่าๆ (ขนาดเราอายุไม่เยอะก็ยังชอบเลย) ทั้งๆ ที่คนฟังไม่ค่อยอยากฟังหรอก

What went right?

ก็เลยสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วเวลาต้องพูดเรื่องนี้ เราควรจะพูดอะไรดี? What went right ของเราคือ

  • Get a Homelab! ที่บ้านสนับสนุนให้เรามี Homelab มาตั้งแต่ม. 1 แล้วมันทำให้เกิดนวัตกรรมเยอะมากกก (อย่างน้อยๆ project NSC 2 ตัว) ไปจนถึงวันที่เราย้าย server ออกจากบ้านไปบน VPS แล้วมันก็ยังเคย host ทั้ง Kyou (NSC 15 winner), TipMe

ถ้าบอกว่าเปลืองไฟ เราว่า ROI server เรา 100 เท่าเลยนะ

  • จ่ายเงินเล่น cloud ซะเถอะ มันไม่แพงอย่างที่คิด

ก่อนย้าย TipMe มา cloud เราจ่ายค่า S3 เดือนนึงไม่ถึง 30 บาท แล้วพอมันตัองจ่ายอยู่แล้ว เวลาอยากเล่น EC2 หรืออื่นๆ มันเลยไม่มี friction ในการเริ่มเท่าไร

แต่ที่สนุกสุดคงเป็นตอนฝึกงาน ทั้งเราตอนฝึกงานและน้องฝึกงานที่เราเคยดูบอก CTO เหมือนกันว่าการเล่น cloud โดยไม่ต้องจ่ายเงินเองนี่มันเทพมาก

  • Work on Open Source

เอาจริงๆ เราว่างาน open source contribution เราค่อนข้างน้อย คือสองสามเดือนทำที แต่ก็คงเป็น spirit ของ open source ล่ะคือ เรามีปัญหา เค้ามีทางแก้ แต่เค้าไม่ได้แก้ตรงที่เราคัน เราก็ patch ให้มันหายคัน

แต่การอยู่ในวงการ open source สอนอะไรเราเยอะมาก เราเริ่มมาจากโมบอร์ด SMF ซึ่งมันก็จะเห็นโค้ดคนอื่นว่าเค้า implement อย่างไร มี pattern อะไร มันก็ influence สไตล์เรามาพอสมควร (ถ้าเห็นเขียน comment แบบอ่านไม่รู้เรื่องแต่ใส่ cultural reference ก็น่าจะติดมาจาก SMF นี่แหละ)

มันสอนให้เราไม่มอง library เป็น black box แต่เป็นส่วนหนึ่งของโค้ดเรา และ design advice ที่ดีที่สุดที่เราเคยได้ยินมาคือ “ให้คิดเสมอว่าโค้ดที่เขียนอยู่จะถูก open source เมื่อไรก็ได้”

เพราะมีหลายคนไม่กล้า open source งานตัวเองเพราะว่าอายโค้ด พอคิดแบบนี้แล้วก็จะไม่กล้าเขียนอะไรน่าอายตั้งแต่แรก

  • Blog

รู้สึกว่าสกิลการเขียนเราอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ครูภาษาไทยเคยบอกเรามีสไตล์ของตัวเอง เหมือนคนอ่านหนังสือมาเยอะ (??) แต่เวลากลับไปอ่านงานเก่าๆ ก็รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นมาเยอะ

พอเขียนบล็อคแล้วมันเป็นการโปรโมท เขียนบล็อคส่วนตัวก็โปรโมทตัวเอง เขียนบล็อคบริษัทก็ชวนคนมาบริษัท แม้แต่ว่าเขียนบล็อค TipMe ที่เขียนก็คงเพราะอยากให้คนใช้มีความเชื่อมั่นในระบบเรา

ข้อเสียของการเขียนเยอะๆ คือมันก็โชว์โง่ได้เหมือนกันอย่างที่เป็นดราม่าอยู่ในปีที่ผ่านมา ในบล็อคนี้เองถ้าขุดของเก่าๆ ก็มีอันที่ไม่ค่อยอยากให้อ่านแล้วเหมือนกัน บางอันก็ hide ทิ้งไปแล้ว ก็ยังดีว่าเขียนสมัยเด็กๆ อันไหนไม่ดีคนอ่านก็มองว่าเป็นความคิดเด็กๆ ไปได้ (เคยขุด exteen blog สมัยป. 4-6 มาอ่าน อันนั้นคือลบได้เลย ไม่อยากอ่านสักเรื่อง)

แต่อายุเท่าไรก็มีความคิดแบบเด็กๆ ล่ะ เรียกว่าความคิดที่ยังไม่มีประสบการณ์ก็ได้ เพียงแต่พอคนนับถือเรามากขึ้น (ไม่ว่าด้วยอายุ หรือประสบการณ์) เวลาพลาดมันก็อาจจะมี impact ที่มากขึ้นไปด้วย หลายปีมานี้เลยลด public post ลง แล้วเขียนลง friend only บ้าง ลงบล็อคแล้วไม่ลงใน public บ้าง (ใคร subscribe blog ก็ได้กำไรไป)

มีคนบอกว่าเวลาไปคุ้ยงานเก่าแล้วรู้สึกจูนิเบียว ไม่ต้องแปลกใจ มันแสดงว่าคุณเก่งขึ้นเยอะแล้ว


พอมา List ดูแล้วก็เริ่มรู้สึกว่า จริงๆ list พวกนี้ไปเล่าให้คนอื่น เค้าก็คงไม่ relate อยู่ดี เพราะเค้าไม่ได้มีความสนใจเหมือนเรา