ทำบัญชีเดือนแรกกับ You Need A Budget

ปีที่แล้วผมตั้งเป้าว่าจะซื้อโปรแกรมแท้ แล้วสุดท้ายผมก็ไม่ได้ซื้อ เพราะผมว่าผมไม่มีเงิน

เอาจริงๆ ถ้าดูยอดเงินในบัญชีผมผมก็ซื้อได้แหละ แต่คำถามคือเท่าไรคือเงินที่ใช้ได้ เท่าไรคือเงินที่ควรเก็บ

สมัยผมเล่นเกมออนไลน์เกมนึง ผมตั้งกฎกับตัวเองว่าเงินที่ใช้ได้คือครึ่งหนึ่งของเงินที่มี จนกระทั่งผมแหกกฎเอาเงิน 80% ที่มีไปซื้อดาบเทพมา ซึ่งผมว่าคุ้มมากเพราะเลเวลขึ้นไวสะใจเลย (และ 30% ที่เกินจาก 50% นั่นก็ไม่ใช่น้อยๆ) ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าวิธีผมคิดถูกแล้วแน่หรอ (แต่ตอนจะเลิกเล่นแล้วขายทิ้งนี่ผมเศร้าเลย ราคาตกไป 10 เท่าเพราะแพทช์ใหม่มันทำให้กลายเป็นของหาง่ายขึ้น)

GnuCash บนแมค (ธีมแบบนี้แหละ..)
GnuCash บนแมค (ธีมแบบนี้แหละ..)

กลับมาที่ปัญหานะครับ ผมคิดว่ากลับมาทำบัญชีดีกว่า สมัยม. ปลายผมใช้ GnuCash แต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว เพราะมันมีปัญหาอยู่คือ

  1. ลงบัญชีลำบาก ผมมีหลาย OS ผมต้อง reboot กลับเข้ามาลงบัญชี มันก็กลายเป็นว่าบางทีผมไม่ได้ลงหลายวัน ผมก็กองๆ เงินไว้ที่โต๊ะ
  2. GUI ก็ไม่น่าดึงดูดให้ใช้สักเท่าไร ปุ่มก็เยอะแถมใช้ศัพท์บัญชีอีก (เห็นตัว n ในภาพไหมครับ มันคือ reconcile ทีแรกผมนี่งงเลยว่าคืออะไร)
  3. ลงบัญชียาก ตอนนั้นผมดันเอาบัญชีสารพัดรายการ ทั้งส่วนตัวและของ Sunburn Group เข้ามาทำในเล่มเดียวแล้วก็งง
  4. มันก็ไม่ได้ตอบคำถามผมอยู่ดีว่าเงินเท่าไรใช้ได้ เลขในบัญชีแค่บอกและให้ผมคิดว่าผมเป็นคนมีวินัยมากน้อยแค่ไหน

ก็มาเห็น You Need a Budget ใน Steam สักพักแล้วครับ แต่ราคาเนี่ยคงต้องบอกว่าคงต้องตั้ง budget กันมาซื้อเลยแหละ จนกระทั่งว่าไปอ่านเจอว่าถ้าเป็นนักศึกษาอยู่ส่งบัตรให้เค้าแล้วเค้าจะให้ใช้ฟรีปีนึง ปีต่อไปถ้ายังเรียนไม่จบก็มาขอใหม่เรื่อยๆ ปีใหม่ที่ผ่านมาก็เลยว่างั้นลองดูเลยละกัน

(สำหรับบทความนี้ผมได้คีย์มาใช้ฟรีตามเงื่อนไขข้างบน ไม่ได้รับตังมาอวยนะครับ)

ตัว You Need a Budget เนี่ยอาจจะเรียกว่าเค้าไม่ได้จะขายโปรแกรม แต่ขายหลักการใช้เงิน ซึ่งปกติมันก็น่าจะมาเป็นหนังสือ แต่อันนี้มาเป็นรูปของโปรแกรม ซึ่งเค้าสรุปหลักการเป็นกฎ 4 ข้อคือ

  1. ตั้งเป้าหมายให้เงินทุกบาท
  2. ออมเงิน
  3. ยืดหยุ่น
  4. ใช้เงินของเดือนที่แล้ว

จะสังเกตว่ามันตอบคำถามผมเลยว่าเงินเท่าไรใช้ได้ โดยกฎข้อแรกเนี่ยเค้าบอกว่าถ้ามีเงินเดือนนี้อยู่ 5,000 บาท เราจะต้องบอกเลยว่าในเงิน 5,000 บาทนี้จะทำอะไรบ้าง เช่น ค่าเดินทาง 500 บาท ค่าข้าว 500 บาท ค่าเที่ยว 1,000 บาท ค่าน้ำค่าไฟ 1,000 บาท ออมเงิน 2,000 บาท ซึ่งมันก็จะตอบคำถามผมได้ชัดเจนกว่าการบอกว่าผมมีเงิน 5,000 งั้นโอเคกดเกม Steam สัก 1,500 คงไม่เป็นไร มั้ง…

Screen Shot 2558-02-01 at 6.10.28 PM

ทีนี้ในข้อสองเค้าจะบอกว่านอกจากวางแผนให้ชีวิตประจำวันแล้วอย่าลืมหยอดกระปุกด้วย เช่น ผมต้องต่อโดเมนผมปีละ 500 บาท ผมก็ตั้งเป็นหมวดต่อโดเมนไว้ในโปรแกรม ใส่เงินของเดือนนี้เข้าไป 50 บาท แล้วหยอดกระปุกแบบนี้ไปทุกเดือน ครบสิบเดือนผมก็ได้ 500 บาทพอดีและจ่ายค่าโดเมนได้อย่างสบายใจ ซึ่งก็จะดีกว่าการที่ว่ารอบิลมาแล้วมาหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทีเดียวเยอะๆ ไปต่อโดเมน (แล้วเดือนนั้นก็คือแกลบ)

ในหลักการข้อนี้ยังแนะนำให้คิดถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอนด้วยครับ เช่นค่าซ่อมต่างๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้ซ่อมหรือเปล่า ซ่อมอะไร ซ่อมเมื่อไร แต่ก็ควรหยอดกระปุกไว้เนิ่นๆ

ข้อต่อมายากที่สุดในการใช้แล้วครับ กฎข้อสามบอกว่ากฎข้อหนึ่งไม่ใช่กฎเหล็ก ตัวอย่างเช่นถ้าผมวางแผนว่า ซื้อของทั่วไป 500 ซื้อเกม 300 ปรากฏว่าปีใหม่ผมสอยเกมไป 500 วิธีแก้คือผมก็ต้องหักงบซื้อของผมมาโปะ ก็กลายเป็นซื้อของทั่วไป 300 ซื้อเกม 500 แทน

ผมรู้สึกไม่ค่อยดีนะเพราะมันทำให้บางทีใช้เงินจนจะเกินงบหมวดนั้นแล้วแต่ก็ยังคิดว่าเอาหมวดอื่นมาลงได้ (บางทีก็ลามไปถึงเงินออม) แต่เค้าให้เหตุผลว่าเพราะว่าเราก็ไม่รู้ค่าใช้จ่ายจริงๆ ล่วงหน้าได้ เลยต้องมีการปรับไปปรับมา (สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าหักห้ามใจตัวเองได้แค่ไหนอยู่ดี)

และข้อสุดท้ายซึ่งผมยังไม่ได้ใช้ในเดือนแรกนี้คือการใช้เงินเดือนที่ในเดือนนี้ อย่าใช้แบบเดือนชนเดือน

หลักการพวกนี้ ทาง You Need A Budget เองก็บอกเลยครับว่าไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมของเค้าก็ได้ ก็ไปจดบันทึกเองใน Excel หรือในกระดาษก็ได้ แต่ถ้าใช้โปรแกรมของเค้ามันจะเป็นการบังคับเราให้เราต้องลงบัญชีแบบนี้


แล้วตอนนี้ผมใช้ YNAB ยังไง?

ตัว YNAB จะมีสองระบบครับ คือ Budget กับ Account โดย Budget จะเป็นมุมมองว่าตอนนี้เรามีเงินเท่าไร ใช้ทำอะไร ส่วน Account เป็นมุมมองที่อยู่ของเงินว่าที่เก็บเงินนี้เรามีเงินอยู่เท่าไร ซึ่ง account ก็จะมีทั้งแบบ on-budget คือ นำเงินไปคิดในส่วนของ budget ด้วย และ off-budget คือมีการลงบัญชี แต่ไม่เอาไปคิดใน budget

ผมก็เลยตั้งว่าให้บัญชีธนาคารผมทั้งหมดอยู่ on-budget ส่วนเงินในกระปุกผมและเงินที่เอาไปลงทุนต่างๆ เป็นส่วน off-budget

ปัญหาที่เจอหลักๆ เลยครับคือเงินฝากที่มีอยู่เดิมแล้วทั้งหมดของผมจะทำยังไงกับกฎข้อแรกที่ว่าต้องให้ทุกบาทมีเป้าหมาย ผมใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่ครึ่งเดือน ครั้งแรกผมใส่มั่วๆ ไปทุกหัวข้อว่า ค่าซื้อของเท่าไร ค่าเติมมือถือเท่าไร ฯลฯ แล้วเงินที่เหลือก็ปล่อยไว้ไม่ได้ตั้งเป้าหมาย (โปรแกรมก็จะขึ้นค้างไว้ว่ามีเงินเท่าไรที่ไม่มีเป้าหมาย)

ตกลงว่ามีนาผมควรตั้งงบเท่าไร?
ตกลงว่ามีนาผมควรตั้งงบเท่าไร?

ปรากฏว่าผมทดลองทำบัญชีเดือนถัดไป ผมงงมากกว่าเดิมเพราะว่าโปรแกรมจะเอาเงินที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเข้าไปบวกกับรายได้ของเดือนหน้า ผมเลยไม่รู้ว่าสรุปแล้วเดือนหน้าผมต้องตั้งงบรวมทั้งหมดกี่บาท

ผมเลยไปอ่านเอกสารของโปรแกรมใหม่ถึงเข้าใจหลักการว่า เงินที่แบ่งไว้ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ให้หมดตามที่เขียน แล้วก็สามารถตั้งงบติดลบเพื่อปล่อยเงินออมมาได้ ผมเลยตั้งหัวข้อมาใหม่เลยว่า เงินออม แล้วเอาเงินเกือบทั้งหมดใส่เข้าไปในนั้น

หลังจากผ่านเดือนแรกไปแล้วผมกลับมารู้สึกเห็นคุณค่าของเงินเยอะขึ้นมากเลยครับ (ซึ่งตอนทำบัญชีทุกทีก็จะเป็นแบบนี้) จากเดิมซื้อก็คือซื้อ impulse buy อันนี้จะซื้อก็มานั่งเปิดโปรแกรมดูก่อนว่างบมีไหม ถ้าไม่มีจะต้องตัดส่วนไหนเข้ามา อันนึงที่ทำให้ผมแปลกใจมากคือผมเพิ่งมาคิดว่าค่าโดเมนที่ผมถือในมือมันก็ไม่ใช่ถูกๆ ก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะทำยังไงดี จะปล่อย หรือจะต้องเก็บเงินเท่าไรไปต่อ

คำถามที่ผมว่าโปรแกรมนี้ยังไม่ตอบอยู่ดีคือ ผมจะใช้เงิน “เท่าไรดี” โปรแกรมช่วยแค่ให้เห็นภาพว่าเงินผมหายไปไหนบ้าง แต่ผมจะตั้งค่ากินค่าเที่ยวกี่บาทถึงจะไม่เกินตัว อันนี้ผมว่าคำตอบคงขึ้นอยู่กับตัวเองแล้วแหละ

แล้วอาจจะพบกันในซีรีสต่อไปครับ…